12 กรกฎาคม 2567

โฉนดที่ดินติดจำนอง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถนำยึดออกขายทอดตลาดได้


โฉนดที่ดินที่ติดจำนอง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถนำยึดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายทอดตลาดได้
ลูกหนี้ที่มีหนี้หลายทางหลายเจ้า เช่น กู้ยืมเงินกับธนาคารแล้วนำโฉนดที่ดินไปค้ำประกันเงินกู้ด้วย ขณะเดียวกันก็เป็นหนี้กับเจ้าหนี้รายอื่นอีกด้วย เมื่อเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องศาลเพื่อให้ชำระหนี้ และศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้ แต่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถนำยึดโฉนดที่ดินที่จำนองอยู่กับธนาคารออกขายทอดตลาดได้ หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคำนวนดูแล้วว่าที่ดินที่จะนำยึดขายนั้นขายได้ราคามากกว่าหนี้ที่ลูกหนี้กู้ยืมกับธนาคารและมีเงินเหลือมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบางส่วนหรือทั้งหมด
ยกตัวอย่าง ลูกหนี้กู้ยืมเงินธนาคาร 200,000 บาท ดอกเบี้ยคงค้าง 10,000 บาท และลูกหนี้ยังเป็นหนี้ตามคำพิพากษาของเจ้าหนี้รายอื่นอีก 100,000 บาท เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะไปขอคัดสำเนาโฉนดที่ดินที่สำนักงานที่ดินและออกสำรวจดูแปลงที่ดิน จากนั้นก็จะประเมินว่าหากนำยึดออกขายทอดตลาดน่าจะขายได้ราคาเท่าไหร่ หากประเมินแล้วว่าน่าขายได้เกิน 210,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ต้องชำระให้แก่ธนาคารก่อน ก็จะนำยึดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำที่ดินออกขายทอดตลาด เมื่อชำระให้แก่ธนาคารแล้วส่วนที่เหลือจึงชำระให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และหากยังมีเงินเหลือจึงจะชำระให้แก่ลูกหนี้ต่อไป ตัวอย่างนี้เป็นกรณีขายโดยปลอดจำนอง
แต่หากทางธนาคารให้ขายโดยการจำนองติดไปกับโฉนดที่ดินด้วย ผู้ซื้อที่ดินต้องรับภาระผูกพันหนี้สินการจำนองด้วย ราคาขายก็จะถูกลงมาว่าขายโดยปลอดจำนอง หากขายได้ก็นำเงินมาชำระให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และหากยังมีเงินเหลือจึงจะชำระให้แก่ลูกหนี้ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น