23 กรกฎาคม 2567

การจ้างทนายความจำเลย

              การหาทนายความและว่าจ้างให้เป็นทนายความจำเลยคดี ผบE

              วิธีการหาทนายความและว่าจ้างให้เป็นทนายความจำเลยคดี กู้ยืมเงินระหว่างสถาบันการเงินกับบุคคลทั่วไป สินเชื่อหมุนเวียน บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต เช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถการเกษตร ฯ ซึ่งเป็นคดีผู้บริโภคหรือเรียกอีกอย่างว่าคดี ผบE มีวิธีการพิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็คทรอนิกส์ของศาลผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ การยื่นคำฟ้องและเอกสารต่าง ๆ ในคดีให้ยื่นผ่านระบบ Efiling ของศาล ดังนั้นการว่าจ้างทนายจึงสามารถว่าจ้างได้ทั่วประเทศ เกิดความสะดวกสบาย ลดค่าใช้จ่ายได้



18 กรกฎาคม 2567

กยศ. ฟ้องผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันจริง

                กยศ. หรือกองทุนให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ฟ้องผู้กู้และผู้ค้ำประกันจริง หากผู้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาและผู้ค้ำประกันไม่ยอมชำระหนี้ และมีการบังคับคดีเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามพิพากษาด้วย เช่น นำยึดทรัพย์สิน ที่ดินออกขายทอดตลาด หรือหากผู้ค้ำประกันเป็นข้าราชการก็จะอายัดเงินปันผลสหกรณ์ หากมีรายได้จากการทำงานกับบริษัทเอกชน เป็นลูกจ้าง พนักงานบริษัท จะนำอายัดเงินเดือนส่วนที่เกินสองหมื่นบาทขึ้นไป

           การฟ้องคดีนั้น กยศ. จะมอบอำนาจให้สำนักงานกฎหมายเอกชนเป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทน รวมทั้งการบังคับคดีด้วย





13 กรกฎาคม 2567

อายุความฟ้องหนี้บัตรเครดิต 2 ปี

คำฟ้องให้จำเลยชำระหนี้บัตรเครดิตขาดอายุความหรือไม่

อายุความที่โจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้บัตรเครดิต มีอายุความ 2 ปี นับจากวันที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ ยกตัวอย่าง ในสัญญาเปิดใช้บัตรเครดิตระบุว่าผู้ใช้บัตรต้องชำระเงินทุกวันที่ 5 ของเดือน ดังนั้นหากผู้ใช้บัตรไม่ชำระเงินอีกเลย ให้เริ่มนับอายุความจากวันที่ 6 ของเดือนที่ไม่ชำระเป็นต้นไป 2 ปี นั่นคือช่วงเวลาที่โจมก์จะฟ้องได้ แต่หากเกิน 2 ปีแล้วโจทก์ยังฟ้องมา จำเลยก็สามารถยกข้อต่อสู้เรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพื่อให้ศาลพิพากษายกฟ้องของโจทก์ได้


12 กรกฎาคม 2567

โฉนดที่ดินติดจำนอง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถนำยึดออกขายทอดตลาดได้


โฉนดที่ดินที่ติดจำนอง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถนำยึดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายทอดตลาดได้
ลูกหนี้ที่มีหนี้หลายทางหลายเจ้า เช่น กู้ยืมเงินกับธนาคารแล้วนำโฉนดที่ดินไปค้ำประกันเงินกู้ด้วย ขณะเดียวกันก็เป็นหนี้กับเจ้าหนี้รายอื่นอีกด้วย เมื่อเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องศาลเพื่อให้ชำระหนี้ และศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้ แต่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถนำยึดโฉนดที่ดินที่จำนองอยู่กับธนาคารออกขายทอดตลาดได้ หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคำนวนดูแล้วว่าที่ดินที่จะนำยึดขายนั้นขายได้ราคามากกว่าหนี้ที่ลูกหนี้กู้ยืมกับธนาคารและมีเงินเหลือมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบางส่วนหรือทั้งหมด
ยกตัวอย่าง ลูกหนี้กู้ยืมเงินธนาคาร 200,000 บาท ดอกเบี้ยคงค้าง 10,000 บาท และลูกหนี้ยังเป็นหนี้ตามคำพิพากษาของเจ้าหนี้รายอื่นอีก 100,000 บาท เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะไปขอคัดสำเนาโฉนดที่ดินที่สำนักงานที่ดินและออกสำรวจดูแปลงที่ดิน จากนั้นก็จะประเมินว่าหากนำยึดออกขายทอดตลาดน่าจะขายได้ราคาเท่าไหร่ หากประเมินแล้วว่าน่าขายได้เกิน 210,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ต้องชำระให้แก่ธนาคารก่อน ก็จะนำยึดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำที่ดินออกขายทอดตลาด เมื่อชำระให้แก่ธนาคารแล้วส่วนที่เหลือจึงชำระให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และหากยังมีเงินเหลือจึงจะชำระให้แก่ลูกหนี้ต่อไป ตัวอย่างนี้เป็นกรณีขายโดยปลอดจำนอง
แต่หากทางธนาคารให้ขายโดยการจำนองติดไปกับโฉนดที่ดินด้วย ผู้ซื้อที่ดินต้องรับภาระผูกพันหนี้สินการจำนองด้วย ราคาขายก็จะถูกลงมาว่าขายโดยปลอดจำนอง หากขายได้ก็นำเงินมาชำระให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และหากยังมีเงินเหลือจึงจะชำระให้แก่ลูกหนี้ต่อไป

07 กรกฎาคม 2567

ข้อต่อสู้ของจำเลยเช่าซื้อรถยนต์

 
ข้อต่อสู้ของจำเลยกรณีที่โจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาดแล้วมาฟ้องให้จำเลยรับผิดค่าขาดราคา

              เมื่อเช่าซื้อรถยนต์แล้วส่งงวดรถไม่ไหว จึงนำรถไปคืนผู้ให้เช่าซื้อ จากนั้นผู้ให้เช่าซื้อใด้นำรถยนต์ออกขาดทอดตลาด ต่อมาผู้ให้เช่าซื้อได้ขายหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อให้ผู้อื่น เช่น บริษัท บริหารสินทรัพย์ต่าง ๆ จากนั้นผู้ซื้อหนี้ได้มาฟ้องผู้เช่าซื้อรถให้รับผิดค่าขาดราคา จากการนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาด เมื่อนำเงินค่าขายทอดตลาดมาหักจากค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระแล้วยังขาดอีก จึงได้มาฟ้องให้ผู้เช่าซื้อรับผิดในส่วนต่าง

     วิธีการดูว่าจำเลยมีข้อต่อสู้ต่อโจทก์อย่างไรบ้าง

     ให้ดูคำฟ้องที่ส่วนเอกสารท้ายคำฟ้องว่ามีเอกสารเกี่ยวกับการขายทอดตลาดรถยนต์คันที่เช่าซื้อหรือไม่ หากไม่มีเอกสาร แสดงว่าโจทก์เพียงกล่าวอ้างว่าได้มีการขาดทอดตลาดรถยนต์ แต่ไม่มีเอกสารมาสนับสนุนคำฟ้อง จำเลยจึงมีข้อต่อสู้เรื่องโจทก์ขาดเอกสารการขายทอดตลาดมาแสดงต่อศาล ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 31/2560 ที่พิพากษายกฟ้องโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องชำระเงินแก่โจทก์ ดังนั้นเมื่อจำเลยได้รับสำเนาหมายเรียกและคำฟ้องให้รีบนำไปปรึกษาทนายความเพื่อแต่งตั้งให้เป็นทนายความยื่นคำให้การแก้คำฟ้องของโจทก์ต่อไป






06 มีนาคม 2567

เช่าซื้อรถจักรยานยนต์

                      

       ถูกฟ้องคดีเช่าซื้อรถจักรยานยนต์                

                      การเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และเอาไปขายต่อ หรือเอาไปให้คนอื่นใช้งาน หากไม่ส่งค่างวด ผู้ให้เช่าซื้อก็จะตามมาทวงค่างวดรถยังภูมิลำเนาของผู้เช่าซื้อเพื่อดูว่ารถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อมายังอยู่หรือไม่ หากหารถไม่เจอและผู้เช่าซื้อไม่ยอมชำระค่างวดรถที่ค้างชำระ ผู้ให้เช่าซื้อก็จะฟ้องเป็นคดีอาญาในฐานความผิด ยักยอกรถจักรยานยนต์ หรือฉ้อโกง มีโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้เช่าซื้อรถก็จะตกเป็นจำเลยคดีอาญา จะอยู่เฉยทำตัวไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย เหมือนคดีแพ่งไม่ได้ ดังนี้แล้วผู้เช่าซื้อรถเพื่อไปขายต่อพึงระวังไว้

                      แต่ก็มีทางออกที่ผู้เช่าซื้อรถไม่ต้องติดคุก เพราะคดีอาญาฐานความผิด ยักยอก หรือฉ้อโกง เป็นความผิดที่ยอมความกันได้ เมื่อถูกผู้ให้เข่าซื้อเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา ผู้เช่าซื้อจะตกเป็นจำเลยต้องไม่ทำเฉยหรือหลบหนี ต้องไปศาลเพื่อพูดคุยกับโจทก์ จะขอชำระค่างวดที่ค้างชำระทั้งหมดหรือผ่อนชำระก็ได้ โจทก์เองก็ไม่อยากให้ผู้เช่าซื้อหรือจำเลยติดคุก ที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีอาญาก็เพื่อบีบบังคับให้ผู้เช่าซื้อเข้ามาเจรจาและชำระเงินค่าเช่าซื้อรถที่ค้างชำระเท่านั้น โดยปกติโจทก์จะให้ผ่อนชำระค่างวดรถที่ค้างชำระเดือนละเท่า ๆ กัน แต่ต้องชำระให้หมดภายใน 24 เดือน

                      ในกรณีผู้เช่าซื้อค้างค่างวดรถ ผู้ให้เช่าซื้อจะตามมาทวงค่างวดรถยังภูมิลำเนาของผู้เช่าซื้อและหากเห็นว่ารถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อยังอยู่ และผู้เช่าซื้อไม่ยอมชำระค่างวดรถที่ค้างชำระ ผู้ให้เช่าซื้อก็จะฟ้องเป็นคดีแพ่ง ผู้เช่าซื้อจะตกเป็นจำเลยจะอยู่เฉย ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย และไม่ไปศาล ก็ย่อมทำได้ แต่เมื่อมีคำพิพากษาที่สุดแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อซึ่งเป็นโจทก์ก็จะสืบทรัพย์ของจำเลยและบังคับคดีขายทอดตลาดเอง ถึงตอนนี้จำเลยที่มีที่ดินเป็น นส3.ก หรือโฉนดที่ดิน ก็จะอยู่เฉยไม่ได้แล้ว


14 ธันวาคม 2565

เอกสารหลักฐานการยื่นประกันตัว

เอกสารหรือหลักฐานการยื่นประกันตัวจำเลยในศาล

            เมื่อศาลรับฟ้องคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดี ผู้ต้องหาจะตกเป็นจำเลยทันที หรือกรณีที่ประชาชนฟ้องคดีอาญาเองภายหลังจากที่ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วศาลมีคำสั่งว่าคดีมีมูลและศาลประทับรับฟ้องผู้ต้องหาจะตกเป็นจำเลยทันที คดีอาญานั้นมีโทษจำคุก หากจำเลยไม่ประกันตัวก็ต้องถูกคุมขังในเรือนจำจนกว่าการพิจารณาคดีจะเสร็จสิ้น แต่หากจำเลยต้องการจะประกันตัวโดยไม่ต้องถูกคุมขังก็สามารถทำได้ โดยมีหลักฐานการประกันตัว รายละเอียดดังต้อไปนี้

         กรณีใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด

            1. สำเนาบัตรประชาชนของจำเลย ของผู้ขอประกัน ถ่ายเอกสาร 1 ชุด

            2. สำเนาทะเบียนบ้านของจำเลย ของผู้ขอประกัน ถ่ายเอกสาร 1 ชุด


        กรณีใช้หลักทรัพย์เป็นที่ดิน

            1. โฉนดที่ดิน หรือ น.ส. 3 ก. พร้อมราคาประเมินในปีปัจจุบัน (ราคาประเมินไม่เกิน 1 เดือน)

            2. สำเนาบัตรประชาชนของจำเลย ของผู้ขอประกันและคู่สมรสของผู้ขอประกัน  ถ่ายเอกสาร 1 ชุด

            3. สำเนาทะเบียนบ้านของจำเลย ของผู้ขอประกันและคู่สมรสของผู้ขอประกัน ถ่ายเอกสาร 1 ชุด

            4. นำคู่สมรสของผู้ขอประกันมาลงชื่อให้ความยินยอมที่ศาล

            5. กรณีที่คู่สมรสไม่สามารถมาเซ็นชื่อยินยอมที่ศาลได้ต้องมีหนังสือยินยอมมายื่นต่อศาลด้วย (รับแบบฟอร์มหนังสือให้ความยินยอมที่ศาล)

            6. เขียนแผนที่ที่ตั้งทรัพย์ที่นำมาประกัน (ต้องบอกจุดใกล้เคียงที่ตั้งทรัพย์ให้สามารถเดินทางไปถึงที่ตั้งทรัพย์ได้)

            7. รูปถ่ายที่ตั้งทรัพย์ให้มีรูปผู้ขอประกันด้วย ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน

    *** หมายเหตุ กาณีใช้หลักทรัพย์มาประกัน หากจำเลยผิดสัญญาประกันและศาลได้มีการยึดทรัพย์ขายนำเงินมาชำระหนี้ หากเงินไม่พอศาลมีอำนาจยึดทรัพย์อื่นของนายประกันมาชำระหนี้จนกว่าจะครบค่าปรับ


        กรณีใช้ตำแหน่ง

            1. หนังสือรับรองจากต้นสังกัดแสดงฐานะตำแหน่งและอัตราเงินเดือน ถ้าเป็นข้าราชการครูขอจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเท่านั้น พร้อมรับรองสำเนา 1 ชุด

            2. สลิปเงินเดือนเดือนสุดท้าย 1 ชุด

            3. สำเนาบัตรประชาชนของจำเลย ของผู้ขอประกันและสำเนาบัตรข้าราชการและสำเนาบัตรคู่สมรสของผู้ขอประกัน ถ่ายเอกสาร 1 ชุด

            4. สำเนาทะเบียนบ้าน ถ่ายเอกสาร 1 ชุด

            5. นำคู่สมรสของผู้ขอประกันมาลงชื่อยินยอมที่ศาล

            6. กรณีที่คู่สมรสไม่สามารถมาเซ็นชื่อยินยอมที่ศาลได้ต้องมีหนังสือยินยอมมายื่นต่อศาลด้วย (รับแบบฟอร์มหนังสือให้ความยินยอมที่ศาล)

            7. เขียนแบบฟอร์มรับรองความผูกพันกับจำเลยและรายได้

            8. ในกรณีที่ใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกัน ผู้ขอประกันต้องแสดงหลักทรัพย์อื่นต่อศาลโดยแนบสำเนาหลักทรัพย์อื่น ๆ เช่น โฉนดที่ดิน น.ส.3 ก. สำเนาคู่มือรถยนต์ จักรยานยนต์ สำเนาสมุดเบัญชีเงินฝากธนาคาร ซึ่งต้องเป็นของผู้ขอประกันเท่านั้น

            9. ในกรณีที่ใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกัน ผู้ขอประกันต้องมีความเกี่ยวข้องเป็นญาติกับจำเลยโดยเกี่ยวพันธ์โดยสายเลือด หรือทางสมรสเท่านั้น หากกรณีเป็น สท สจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประกันจำเลยได้เฉพาะผู้ที่อยู่ในท้องที่การปกครองของตนเท่านั้น